52010915104g4

วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555


ภาวะโลกร้อน >>> ระเบิดเวลาทำลายโลก


ในระยะวลา 2-3 ปีมานี้ชาวไทยและชาวโลกได้ประสบกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น โดยในประเทศไทยเองก็เกิดการแปรปรวนของฤดูกาลต่างๆ ในฤดูร้อนอากาศก็ร้อนจัด ในฤดูฝนฝนก็ตกไม่หยุดเป็นเวลาหลายวันจนเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือและภาคกลาง ในขณะที่บางพื้นที่ฝนก็ไม่ตกจนเกิดสภาวะแห้งแล้ง ในฤดูหนาวเองก็ไม่หนาวมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว แม้แต่การระบาดของโรคไข้เลือดออกในไทยที่เดิมเคยระบาดสองปีครั้ง แต่ปัจจุบันมีการระบาดเกิดขึ้นทุกปี




ในส่วนอื่นๆของโลกก็ได้ประสบกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงไม่แพ้กัน เช่นการเกิดอุทกภัยในมาเลเชีย อินเดียและอีกหลายประเทศ การเกิดแผ่นดินไหวที่บ่อยครั้งและมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การเกิดพายุเฮอริเคนที่รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้นในมหาสมุทรแอตแลนติก การเกิดอากาศร้อนในหลายพื้นที่ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาจนมีผู้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก การเกิดหิมะตกเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 90 ปี ที่กรุงบูโนส ไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นกับโลกของเรานี้ทุกคนล้วนลงความเห็นตรงกันว่ามีสาเหตุมาจาก "ภาวะโลกร้อน" (Global warming)



หิมะตกครั้งแรกในรอบ 89 ปีในกรุงบูโนส ไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา

เหตุการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศไทยในปีพ.ศ. 2549


ภาวะโลกร้อนคือสภาวะที่อุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นโลกสูงขึ้นโดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ซึ่งเป็นตัวการกักเก็บความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่ผ่านชั้นบรรยากาศมายังโลกไว้ไม่ให้สะท้อนกลับออกไปสู่บรรยากาศ หรือที่เราเรียกว่า “ปรากฏการณ์เรือนกระจก” (greenhouse effect) การเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้นส่วนใหญ่มาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงประเภทฟอสซิลต่างๆ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหินเป็นต้น ซึ่งมนุษย์นำมาใช้ในกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันเช่นในการขนส่งเดินทาง การผลิตกระแสไฟฟ้า และอื่นๆ ดังนั้นเมื่อมนุษย์เรายิ่งใช้พลังงานมากขึ้นเท่าไหร่ปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว จึงอาจกล่าวได้ว่าหายนะที่เกิดขึ้นก็เกิดจากน้ำมือของมนุษย์นั่นเอง

พฤติกรรมต่างๆของมนุษย์ในปัจจุบันล้วนแต่เร่งให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นทั้งสิ้น ไม่ว่าการใช้รถส่วนตัวไปทำงาน การใช้พลังงานไฟฟ้าเกินความจำเป็น การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือย การเติบโตอย่างรวดเร็วของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆที่ต่างต้องใช้พลังงานสูงและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเป็นจำนวนมาก แม้แต่ต้นไม้ในป่าที่เคยทำหน้าที่ดูดกลืนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อปรับความสมดุลทางธรรมชาติก็ถูกมนุษย์ทำลายอย่างรวดเร็วทั้งจากชาวบ้านที่เข้าถางป่าเพื่อใช้เป็นพื้นที่ทำมาหากิน และจากนายทุนที่ตัดไม้อย่างผิดกฎหมาย

ถึงแม้ว่าธรรมชาติจะมีวิธีการรักษาตัวเองได้จากเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น หากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเองทางธรรมชาติก็คงใช้เวลาปรับเข้าสู่สภาวะสมดุลได้ไม่นานนัก แต่จากพฤติกรรมของมนุษย์ข้างต้นเป็นการเร่งผลิตแก๊สเรือนกระจกออกมามากเกินขีดความสามารถของโลกที่จะเยียวยาตนเองได้ทัน สภาวะโลกร้อนจึงรุนแรงขึ้นทุกที



หลักเขตกรุงเทพมหานครที่จมลงไปในทะเลที่บางขุนเทียน

อกเหนือจากภัยธรรมชาติและการแปรปรวนของฤดูกาลที่เป็นผลมาจากสภาวะโลกร้อนแล้ว การที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นจากสภาวะโลกร้อนทำให้น้ำแข็งที่ขั้วโลกและที่ยอดเขาต่างๆละลายลงส่งผลให้น้ำทะเลสูงขึ้นจึงทำให้เกิดน้ำท่วมขึ้นในหลายพื้นที่ในโลก ในประเทศไทยเองที่บริเวณชายฝั่งอ่าวไทยกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะบริเวณชายทะเลบางขุนเทียนที่จมหายไปในทะเลปีละประมาณ 12 เมตร มีการคาดการณ์ว่าหากน้ำแข็งที่ขั้วโลกทั้งหมดละลายลงจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอีก 6-8 เมตร ถ้าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมืองต่างๆที่อยู่ริมทะเลจะจมลงใต้น้ำทั้งหมด กรุงเทพมหานครซึ่งมีความสูงเฉลี่ยจากระดับน้ำทะเลปกติประมาณ 1 เมตรก็ต้องจมลงอยู่ใต้ทะเลด้วย นักวิชาการบางคนในประเทศไทยกล่าวว่าอาจจะต้องมีการย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่อื่นเลยทีเดียว

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
  • อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะใน 2-3 ทศวรรษหลัง
  • ภาวะอากาศแปรปรวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น คลื่นความร้อนพายุ และการเกิดไฟป่า
  • จำนวนพายุเฮนริเคนระดับ 4 และ 5 เพิ่มขึ้นสองเท่า ในสามสิบปีที่ผ่านมา
  • เกิดโรคภัยต่างๆขึ้นผิดปกติจากที่เคยเป็นเช่นการระบาดของโรคไข้เลือดออกในไทยซึ่งจากเดิมระบาดสองปีครั้งกลายเป็นปีละครั้ง และ เชื้อมาลาเรียได้แพร่กระจายไปในที่สูงขึ้น แม้แต่ใน Columbian, Andes ที่สูง 7000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล เป็นต้น
  • สัตว์ต่างๆ หลายสปีชี่ส์กำลังตอบสนองต่อภาวะโลกร้อนโดยพยายามย้ายถิ่นที่อยู่ หรือ อาจสูญพันธ์ได้
  • ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นมากกว่า 6-8 เมตร จากการละลายหายไปของพื้นน้ำแข็งในเขตกรีนแลนด์และแอนตาร์คติกา ซึ่งจะกลืนกินพื้นที่ชายฝั่งทั่วโลก
จะเห็นว่าภาวะโลกร้อนนี้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อมนุษย์รวมทั้งสิ่งมีชีวิตต่างๆทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามนุษย์เองเป็นตัวการที่เร่งทำให้เหตุการณ์ที่เกิดรุนแรงขึ้นทุกที ดังนั้นมนุษย์เองควรจะตระหนักถึงปัญหานี้มากขึ้นเพื่อช่วยให้เหตุการณ์ร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นให้เกิดขึ้นช้าลงไปหรือไม่เกิดขึ้นเลย ในตอนต่อๆไปจะกล่าวถึงรายละเอียดของปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นรวมถึงวิธีการแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น


เอกสารอ้างอิง
http://sanluck.igetweb.com/index.php?mo=3&art=198992

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น